สำหรับสาเหตุของ อาการกรดไหลย้อน (GERD = gastroesophageal reflux disease) เป็นผลมาจากกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมาที่หลอดอาหาร ซึ่งกรดเหล่านี้มีความเข้มข้นสูงมาก ทำให้เกิดอันตรายต่อหลอดอาหาร และเยื่อบุในหลอดอาหารที่มีความบอบบาง กระทั่งทำให้เกิดการอักเสบตามมา ซึ่งโดยปกติแล้วกรดหรือน้ำย่อยจะไม่สามารถขึ้นไปอยู่ในหลอดอาหารได้ ยกเว้นในช่วงที่กลืนอาหาร หรือช่วงที่กล้ามเนื้อหูรูดส่วนล่างมีการคลายตัวอย่างผิดปกตินั่นเอง
ส่วนอาการของกรดไหลย้อนนั้น จะแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะคือ
1. อาการกรดไหลย้อนที่เกิดในหลอดอาหาร จะมีอาการเจ็บคอ กลืนลำบาก รู้สึกเหมือนมีก้อนอยู่ในลำคอ แสบลิ้นเรื้อรัง จุกแน่นแถวๆ หน้าอกคล้ายอาหารไม่ย่อย อาการนี้มักจะเป็นมากขึ้นหลังอาหารมื้อหลัก การโน้มตัวไปข้างหน้า การยกของหนัก หรือการนอนหงายที่สำคัญคือ จะมีอาการแสบหน้าอก เรอเปรี้ยว รู้สึกเหมือนมีกรดซึ่งเป็นน้ำรสเปรี้ยว หรือรสขมไหลย้อนขึ้นมาในปาก ภาวะดังกล่าวนี้อาจทำให้เกิดหลอดอาหารอักเสบ ถ้าเป็นมากจนเกิดแผลรุนแรง อาจทำให้หลอดอาหารตีบหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงเซลล์ของเยื่อบุอาหารได้
2. อาการกรดไหลย้อนนอกหลอดอาหาร จะมีเสียงแหบเรื้อรัง มักมีเสียงแหบตอนเช้า หรือมีเสียงผิดปกติไปจากเดิม ไอเรื้อรัง รู้สึกสำลักในเวลากลางคืน หรือในบางรายอาจมีอาการทางระบบหายใจ เช่น หอบหืด หรืออาการเจ็บหน้าอกได้ค่ะ
อาการนี้เกิดมาจากสาเหตุอะไร
-การกินอิ่มมากไป (กินอาหารมื้อใหญ่หรือปริมาณมาก) กระตุ้นให้มีน้ำย่อยหลั่งออกมามาก ประกอบกับการขยายตัวของ กระเพาะอาหารทำให้หูรูดคลายตัวมากขึ้น
-การนอนราบ (โดยเฉพาะภายใน 2 ชั่วโมงหลังกินอาหาร) การนั่งงอตัว โค้งตัวลงต่ำ ทำให้น้ำย่อยไหลย้อนได้ง่ายขึ้น
-การรัดเข็มขัดแน่น หรือใส่กางเกงคับเอว จะเพิ่มแรงดันในกระเพาะอาหารทำให้น้ำย่อยไหลย้อน (ไม่น่าเชื่อเลยว่าการรัดเข็มขัดก็เป็นปัจจัยทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อนได้ เหมือนกัน)
-การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือกาเฟอีน (เช่น กาแฟ ยาชูกำลัง) นอกจากกระตุ้นให้หลั่งกรดในกระเพาะอาหารมากขึ้นแล้ว ยังเสริมให้หูรูดคลายตัวอีกด้วย (ทีนี้ล่ะไปกันใหญ่เลยล่ะค่ะ)
-การกินอาหารที่ไขมันสูง ข้าวผัด ของทอดและอาหารผัดน้ำมัน เพราะจะทำให้กระเพาะอาหารเคลื่อนไหวช้าลง ทำให้มีโอกาสเกิดกรดไหลย้อนได้มากขึ้น (ควบคุมยากมากจริงๆ สำหรับของทอด 555+)
-การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาร์บอเนต (น้ำอัดลม) การกินอาหารเผ็ดจัด หัวหอม กระเทียม ซอสมะเขือเทศ น้ำมะเขือเทศ น้ำองุ่น น้ำผลไม้เปรี้ยว (เช่น น้ำส้มคั้น) ผลไม้เปรี้ยว ช็อกโกแลต หรือสะระแหน่ การใช้ยาบางชนิด (เช่น ยาขยายหลอดลม ยาแอนติโคลิเนอร์จิก ยาลดความดันกลุ่มปิดกั้นบีตาและกลุ่มต้านแคลเซียม ยาทางจิตประสาท ฮอร์โมนโพรเจสเตอโรน เป็นต้น) จะเสริมให้หูรูดคลายตัว หรือมีกรดหลั่งมากขึ้น
-โรคหืด เชื่อว่าเป็นผลมาจากการไอและหอบ ทำให้เพิ่มแรงดันในช่องท้อง ทำให้กรดไหลย้อน
-แผลเพ็ปติก และการใช้ยากลุ่มอนุพันธ์ฝิ่น ทำให้อาหารขับเคลื่อนลงสู่ลำไส้ช้าลงทำให้มีกรดไหลย้อนได้ (เป็นความรู้ใหม่นะคะ พี่เหมี่ยวก็เพิ่งรู้เหมือนกัน)
ป้องกันอาการดังกล่าวได้ยังไงบ้าง
-ลดน้ำหนักไม่ให้อ้วนเกินไป
-กินอาหารก่อนนอน 3 ชั่วโมงขึ้นไป
-ควรพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ควรนอนดึกมาก และไม่ควรนอนนานเกินไป เพราะพฤติกรรมดังกล่าวสามารถทำให้เกิดอาการกรดไหลย้อนได้เหมือนกัน
-ไม่ควรใส่เสื้อผ้าคับรัดเอวมากเกินไป
-ไม่ควรสูบบุหรี่หรือยาสูบทุกชนิด เพราะนิโคตินทำให้กล้ามเนื้อหลอดอาหารส่วนล่างอ่อนแอ
No comments:
Post a Comment